นโยบายการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัย กระทรวงศึกษาธิการ

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่จังหวัดพิจิตร เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย เมื่อวันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน 2561 ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 4/2561 พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 2 (นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร พิจิตร) ณ จังหวัดนครสวรรค์ ในวันที่ 12 มิถุนายน 2561

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ย้ำถึงความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษา “ต้องเริ่มจากการศึกษาระดับปฐมวัย” โดยมอบ ศธจ. เป็นหน่วยงานหลักในการประสานและบูรณาการทุกฝ่ายในพื้นที่ ให้ทุกภาคส่วนตระหนักว่าเด็กเล็กไม่ใช่สมบัติของหน่วยใดหน่วยหนึ่ง แต่ “เด็กเล็กถือเป็นสมบัติของชาติ” จึงไม่มีนโยบายให้โรงเรียนทุกสังกัดเปิดรับเด็กปฐมวัย หากจะจัดต้องมีความพร้อมจริง ๆ เพื่อให้เด็กมีคุณภาพและเติบโตไปสู่การเป็นเด็ก 4.0 ในอนาคต สอดคล้องกับ “ดร.วีระชาติ กิเลนทอง” จาก ม.หอการค้าไทย ที่ย้ำว่าการลงทุนในเด็กตั้งแต่ช่วงปฐมวัย เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุดที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยแนะหลักสูตรเด็กปฐมวัย “ไฮสโคป (High Scope)” ที่ได้พิสูจน์ตัวเองมากว่า 50 ปีแล้วเป็นแนวทางจัดการเรียนการสอน

สรุปการลงพื้นที่จังหวัดพิจิตรของ รมว.ศึกษาธิการ ได้เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนของเด็กปฐมวัยทั้ง 3 ส่วน คือ รัฐ เอกชน ท้องถิ่น รวมทั้งการจัดหลักสูตรปฐมวัยของ วชช.พิจิตร

1. รัฐ : ที่โรงเรียนอนุบาลเมือง (ท่าหลวงสงเคราะห์)

รมว.ศึกษาธิการ และคณะ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัย ที่โรงเรียนอนุบาลเมือง (ท่าหลวงสงเคราะห์) อ.เมืองพิจิตร สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) พิจิตร เขต 1 ซึ่งรับเด็กปฐมวัยเข้าเรียน ชั้นอนุบาล 1 (3 ขวบ) มีนักเรียนชาย 4 คน หญิง 6 คน รวม 10 คน

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การเดินทางมาติดตามการจัดการศึกษาปฐมวัย เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 54 ที่บัญญัติไว้ว่า รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย โดยในการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้ตรวจเยี่ยมและติดตามการเรียนการสอนของ 3 ส่วน คือ รัฐ เอกชน และท้องถิ่น

สำหรับโรงเรียนอนุบาลเมืองฯ ได้รับฟังผลการดำเนินงานตลอดเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งปัญหาอุปสรรค และความต้องการการสนับสนุนของหน่วยงานที่ร่วมจัดการศึกษา ซึ่งพบว่าการจัดการศึกษาปฐมวัยยังขาดความเชื่อมโยงการทำงาน และขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ สิ่งสำคัญคือทุกคนยังทำงานตามสังกัดตัวเอง จึงจะให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ดูแลการจัดการศึกษาปฐมวัยของทุกหน่วยงานในพื้นที่ในภาพรวม แบ่งปันทรัพยากร ตลอดจนแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ร่วมกันเชิงบูรณาการ อาทิ ให้อาชีวะช่วยจัดทำของเล่น/อุปกรณ์เสริมพัฒนาการ, การจัดอบรมครูที่ไม่ได้จบสาขาปฐมวัย, การใช้หลักสูตรอบรมครูร่วมกัน, การใช้สื่อการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนครูและสื่อการเรียนการสอน เป็นต้น

2. เอกชน : ที่โรงเรียนยอแซฟพิจิตร

จากนั้น รมว.ศึกษาธิการ และคณะ เดินทางต่อไปยังโรงเรียนยอแซฟพิจิตร อ.เมืองพิจิตร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งจัดการศึกษาปฐมวัย รับนักเรียนเข้าเรียนระดับชั้นอนุบาล 1 จำนวน 145 คน

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวย้ำว่า ไม่มีนโยบายให้โรงเรียนทุกสังกัดเปิดรับเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะภาครัฐ หากจะจัดต้องมีความพร้อมจริง ๆ เพื่อลดการสูญเสียทรัพยากรและไม่แย่งเด็กจากภาคเอกชน เพราะหากมีนักเรียนเพียง 1 คนต่อห้องเรียน ดังเช่นในพื้นที่ สพป.พิจิตร เขต 1 ที่มีห้องเรียนเช่นนี้ในโรงเรียนถึง 10 แห่ง และโรงเรียนอีกหลายแห่งที่เปิดทำการสอนนักเรียนเพียง 1-2 คน โดยยืนยันถึงเหตุผลความจำเป็นทั้งความต้องการของผู้ปกครอง ปัญหาการเดินทางของนักเรียน ฯลฯ แต่หากเป็นเช่นนี้การพัฒนาคุณภาพก็คงไม่เกิด และจะเปรียบเสมือนเปิดห้องเรียนเพื่อตำแหน่งหรือเงินอุดหนุนเท่านั้น ไม่ได้ช่วยพัฒนาการศึกษาปฐมวัยของเด็กในชาติให้เป็นพื้นฐานสำคัญเพื่อเติบโตไปสู่การเป็นเด็ก 4.0 ในอนาคต เพราะเด็กเป็นสมบัติของประเทศ ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง

ดังนั้น แม้การศึกษาปฐมวัยเป็นการศึกษาภาคบังคับที่รัฐจัดให้ฟรี แต่รัฐก็ต้องมีความพร้อมด้วย และมีนโยบายให้จัดการหารือร่วมกันของทุกหน่วยงานในพื้นที่ โดยมี ศธจ. ดูแลในภาพรวม ก่อนที่จะเปิดทำการสอนการศึกษาระดับปฐมวัย เพื่อให้เกิดประโยชน์กับเด็กและมีความคุ้มค่ามากที่สุด ส่วนที่เปิดไปแล้ว ก็คงต้องหาแนวทางบริหารจัดการต่อไป

3. ท้องถิ่น : ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านลำนัง

ช่วงบ่าย รมว.ศึกษาธิการ เดินทางไปตรวจเยี่ยมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านลำนัง ต.ไผ่ท่าโพ อ.โพธิ์ประทับช้าง สังกัด อบต.ไผ่ท่าโพ มีจำนวนเด็กเล็ก 18 คน จัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ มุ่งให้เด็กมีพัฒนาการเหมาะสมตามวัย ตามศักยภาพ เป็นที่ยอมรับของชุมชน เพื่อเป็นรากฐานที่มั่นคงให้แก่เด็กปฐมวัย

จากนั้น ได้เยี่ยมชมโครงการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบสนามเด็กเล่นตามหลักการพัฒนาสมอง (BBL) : เล่นตามรอยพระยุคลบาท ของโรงเรียนวัดบ้านลำนัง ซึ่งจัดสถานที่และบรรยากาศให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติ เพื่อให้การเรียนเป็นเรื่องสนุกโดยใช้ธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเป็นห้องเรียน ให้สมองได้พัฒนาการในด้านโครงสร้างและการทำงานได้เต็มศักยภาพ ตลอดจนเป็นการน้อมนำพระปรีชาญาณด้านการศึกษาอบรมเลี้ยงดูพระโอรสพระธิดาของสมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนีมาเป็นแนวทางในการออกแบบองค์ประกอบและกิจกรรมในสนามเด็กเล่นให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ของเด็ก ประกอบด้วยพื้นที่ 3 ส่วนได้แก่

1. พื้นที่พัฒนาระบบผิวสัมผัส ประกอบด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์ การวาดภาพระบายสี กิจกรรมที่เด็กมีโอกาสสัมผัสรับรู้วัสดุที่มีผิวสัมผัสต่างกัน และกิจกรรมเคลื่อนไหว เป็นต้น

2. พื้นที่พัฒนาระบบสร้างสมดุลร่างกาย จะช่วยเรื่องการเขียนอ่าน ซึ่งเด็กเล็ก ๆ ต้องการรับรู้ตำแหน่งของร่างกาย เช่น กิจกรรมที่ฝึกการเคลื่อนไหวของร่างกาย กิจกรรมการแกว่งรอบด้าน กิจกรรมการทรงตัว การยกตัว เป็นต้น

3. พื้นที่พัฒนาระบบสัมพันธภาพของร่างกาย ช่วยในเรื่องการตัดสินใจของเด็ก เนื่องจากอวัยวะที่เป็นระบบสัมพันธภาพของร่างกายจะอยู่ใต้ระบบผิวสัมผัส ทำให้เด็กได้เรียนรู้ตำแหน่งของร่างกาย เช่น กิจกรรมลักษณะที่มีแรงดึงต่อกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและข้อต่อ กิจกรรมลักษณะที่ใช้แรงกดต่อกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและข้อต่อ เป็นต้น โดยทางโรงเรียนได้สร้างความตระหนักให้ชุมชนรับทราบว่าโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน จึงได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของชุมชน ในการสนับสนุนด้านวัสดุอุปกรณ์ ต้นไม้ แรงงาน และทุนทรัพย์เพื่อจัดทำสนามเด็กเล่นให้กับโรงเรียน

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบสนามเด็กเล่นแห่งนี้ ถือเป็นต้นแบบที่ดีที่ สพฐ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรนำไปขยายผลต่อไป

4. วิทยาลัยชุมชนพิจิตร : หลักสูตรไฮสโคป (High Scope) ร่วมบูรณาการปฐมวัยเป็นรูปธรรม

รมว.ศึกษาธิการ เดินทางต่อไปยังวิทยาลัยชุมชนพิจิตร อ.โพทะเล ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งเดียวในจังหวัดพิจิตร สังกัดสำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา มีการจัดการศึกษาใน 4 ระดับ คือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) อนุปริญญา และหลักสูตรระยะสั้น โดยได้เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรระดับอนุปริญญาสาขาปฐมวัย ซึ่งตรงกับนโยบายการจัดการศึกษาของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับเด็กเล็กอย่างมาก

จากนั้น รมว.ศึกษาธิการ ได้เป็นประธานการประชุมการจัดการเรียนการสอนเด็กปฐมวัย ของจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 (นครสวรรค์ กำแพงเพชร อุทัยธานี พิจิตร) โดยกล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ต้องการเห็นการทำงานแบบบูรณาการการศึกษาระดับปฐมวัยร่วมกันของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง โดยต้องการให้ทุกภาคส่วนตระหนักว่า เด็กเล็กไม่ใช่สมบัติของหน่วยใดหน่วยหนึ่ง แต่เด็กเล็กถือเป็นสมบัติของชาติ ขณะที่การปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จได้นั้นต้องเริ่มจากเด็กระดับปฐมวัย ซึ่งประกอบไปด้วยครูปฐมวัย หลักสูตร และตัวเด็ก โดยมีแนวทางดังนี้

1. ด้านการจัดการ เนื่องจากที่ผ่านมาทางโรงเรียนเอกชนบอกว่าโรงเรียนของ สพฐ.ไปแย่งเด็กระดับอนุบาล โดยเมื่อดูจากสถิติแล้ว เด็กอายุประมาณ 1- 3 ปี จะอยู่กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และเมื่ออายุ 4 ปีขึ้นไปจะเข้าโรงเรียนของ สพฐ. กว่าร้อยละ 50 ขณะที่การจัดการศึกษาปฐมวัยของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) พิจิตร เขต 1 เพียงเขตเดียวพบว่ามีเด็ก 1 คนต่อห้องเรียนถึง 11 แห่ง ซึ่งถือว่าไม่เหมาะสม จึงสั่งการให้ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานด้านการศึกษาในจังหวัด เพื่อร่วมกันวางแผนการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับศักยภาพโรงเรียน มีคุณภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเด็ก ก่อนเปิดเทอมหน้า โดยให้จังหวัดพิจิตรดำเนินการเป็นต้นแบบ ส่วน สพฐ. มอบนายสนิท แย้มเกษร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นผู้รับผิดชอบ

2. ด้านหลักสูตร โดยมีแนวทางว่าศูนย์เด็กเล็กที่มีอยู่ในปัจจุบัน หากเพิ่มมิติทางการศึกษาเข้าไปจะสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นสถานศึกษาระดับอนุบาลได้ อีกทั้งปัจจุบันเกิดปรากฎการณ์รักเด็กขึ้น หลายหน่วยงานแย่งกันรับเด็กเข้าโรงเรียน จึงย้ำว่า IQ ไม่ใช่เป้าหมายของการพัฒนาการศึกษา สิ่งสำคัญของเด็กเล็กคือการส่งเสริมพัฒนาการ สร้าง IQ ให้สัมพันธ์กับการกระตุ้นทางสังคมผ่านการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ในส่วนของอุปกรณ์ของเล่นเสริมสร้างพัฒนาการ ขณะนี้พบว่ายังขาดแคลนอยู่ทั่วประเทศ จึงสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มาช่วยผลิตโดยเน้นของเล่นที่ทำจากไม้หรือวัสดุจากธรรมชาติ ให้กับโรงเรียนของ สพฐ. โดยอาจทำเป็นรูปแบบข้อตกลง (MOU) หรือ Government To Government [G2G] ก็ได้

3. ด้านครูปฐมวัย หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยที่วิทยาลัยชุมชนพิจิตรทำอยู่นี้ถูกต้องแล้ว เนื่องจากการฝึกอบรมในขณะปฏิบัติงานเป็นสิ่งที่ดีที่สุด จะช่วยสร้างความชำนาญผ่านการลงมือทำจริง และฝากให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ประสานกับคุรุสภา ว่าจะทำอย่างไรให้หลักสูตรดังกล่าวเกิดมาตรฐาน หรือสามารถออกใบรับรองให้ได้

ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้นำเสนอการศึกษาวิจัยตามโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ (RIECE Thailand) ซึ่งพบว่า การลงทุนในเด็กตั้งแต่ช่วงปฐมวัยถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยใช้การจัดการเรียนการสอนในหลักสูตร “ไฮสโคป (High Scope)” มีหลัก 3 ประการคือ “วางแผน-ลงมือทำ-ทบทวน” ถือเป็นหลักสูตรที่คุ้มค่าที่สุด และพิสูจน์ตัวเองมา 50 ปีแล้ว เนื่องจากลงทุนต่ำแต่ได้ผลตอบแทนน่าพอใจ เพียงแค่นำทรัพยากรที่มีอยู่แล้วมาบริหารจัดการให้เหมาะสม โดยไม่ต้องมีอุปกรณ์พิเศษราคาแพงใด ๆ มาช่วยนอกจากการฝึกอบรมครูผู้สอนหรือครูพี่เลี้ยงเด็กปฐมวัยให้มีความรู้ความเข้าใจเท่านั้น

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวสนับสนุนถึงประโยชน์ของหลักสูตรไฮสโคปด้วยว่า นับเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาด้านปฐมวัยที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทำให้ทุกฝ่ายตระหนักและสนใจที่จะเข้าร่วมด้วย สามารถเริ่มต้นได้ทันทีเนื่องจากไม่ต้องมีการแก้ไขหลักสูตร เพียงปรับเปลี่ยนวิธีการสอน ส่วนด้านอุปกรณ์นั้นสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะเข้ามาช่วยเหลือ ด้านการจัดระเบียบการสอนซึ่งถือเป็นหัวใจของการศึกษาสามารถพัฒนาจนใช้ได้กับทุกวัย และด้านครูนั้นไม่ได้เน้นการผลิตแต่เน้นการพัฒนาให้ครูปฐมวัยเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง

ในส่วนของการผลักดันในระยะยาว มีคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (ก.พ.ป.) และสภาการศึกษา ทำงานร่วมกับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อบรรจุในแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 อีกด้วย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้อีกประมาณ 2 เดือน จะลงพื้นที่ร่วมกับ ดร.วีระชาติ และคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อติดตามผลในการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัยต่อไป


ที่มา : ข่าวที่ 166/2561 นโยบายการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัย

Written by : ปารัชญ์ ไชยเวช (บ่าย), นวรัตน์ รามสูต (เช้า)
Photo Credit : ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี, บัลลังก์ โรหิตเสถียร
Rewriter : นวรัตน์ รามสูต
Editor : บัลลังก์ โรหิตเสถียร

Loading…

You may also like...