สกสค. – ออมสิน ลงนามปรับลดดอกเบี้ยโครงการเงินกู้ ช.พ.ค. – ช.พ.ส.

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงแก้ไขปัญหาหนี้สินครูตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) และฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา ในกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) ครั้งที่ 1 ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กับธนาคารออมสิน เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของวงการครู ระหว่าง สกสค. กับธนาคารออมสิน โดยมีสาระสำคัญคือ ยกเลิกเงื่อนไขในบันทึกข้อตกลงเดิม ที่กำหนดให้ธนาคารออมสินจ่ายเงินสนับสนุนให้กับ สกสค. ตามอัตราและระยะเวลาที่กำหนดตามแต่ละโครงการ ซึ่งธนาคารให้เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาสมาชิก และกิจการ ช.พ.ค. รวมทั้งชำระหนี้ค้างแทนสมาชิก ช.พ.ค.ที่ไม่สามารถชำระเงินงวดให้กับธนาคารเกิน 3 เดือนติดต่อกันได้ ซึ่งจากนี้ สกสค. จะไม่รับเงินสนับสนุนดังกล่าว แต่ให้ธนาคารนำเงินสนับสนุนไปลดอัตราดอกเบี้ยให้กับผู้กู้ที่ได้กู้เงินตามโครงการนั้น ๆ โดยมีผลบังคับใช้ทันที

“เรามีหนี้ค้างชำระกับธนาคารออมสินอยู่ประมาณ 4 แสนล้านบาท ซึ่งโครงการ ช.พ.ค. ในอดีตนั้นเคยได้ค่าบริหารจัดการจำนวนร้อยละ 0.5-1 แล้วแต่โครงการ แต่วันนี้เราตกลงกันว่า สกสค. เป็นหน่วยงานที่ดูแลสวัสดิการครูอยู่แล้ว คนทำงานก็ได้เงินเดือนอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องรับเงินค่าบริหารจัดการในส่วนนี้”

ดังนั้น ข้อตกลงร่วมกันใหม่ในครั้งนี้ จึงสรุปได้ว่าธนาคารออมสินจะลดหนี้ให้ครูที่เป็นลูกหนี้ที่ดีจำนวนกว่าร้อยละ 90 ทันทีแล้วแต่โครงการ ซึ่งจะทำให้ครูเหล่านี้มีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น สำหรับกรณีที่ครูไม่อยากลดดอกเบี้ย ก็สามารถนำเงินตรงนี้ไปลดเงินต้นได้ ซึ่งหากเราไม่ทำแบบนี้ หนี้เสียจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดธนาคารออมสินจะอยู่ไม่ได้ เมื่อธนาคารออมสินอยู่ไม่ได้ต่อไปก็จะไม่มีใครมาให้กู้ วันนี้ถึงแม้จะเป็นจุดเล็ก ๆ แต่ก็เป็นจุดที่สำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงวินัยทางการเงินของครูได้” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา รมว.ศึกษาธิการได้เร่งรัดมาโดยตลอด เพื่อให้ครูทั่วประเทศได้รับประโยชน์ ในส่วนของวันนี้นอกจากเรื่องของการลดดอกเบี้ยแล้ว ยังมีเรื่องที่ผูกพันกันอีกเรื่อง คือ จะไม่มีการหักหนี้ไตรมาสอีกแล้ว เนื่องจากทาง สกสค. ไม่ได้รับเงินสนับสนุนในการบริการจัดการตรงนี้ โดยตนเห็นว่าจะเป็นการส่งเสริมให้ครูมีวินัยทางการเงินที่ดี เพราะการที่หักหนี้ไตรมาสนั้น เป็นเหมือนการประคับประคองกันหรือเรียกว่าเพื่อนชำระหนี้แทนให้ ตลอดจนในโอกาสต่อไปจะมีการพูดคุยหารือกับธนาคารออมสินเรื่องการทำประกัน ที่จะต้องให้ครูได้รับประโยชน์มากที่สุด

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ผู้กู้เงินที่จะได้รับสิทธิ์ลดดอกเบี้ยในอัตราข้างต้นจะต้องมีคุณสมบัติ คือ มีสถานะหนี้ปกติ หรือเข้าร่วมมาตรการแก้ไขหนี้ หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ต้องชำระดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 100 และชำระดอกเบี้ยที่ตั้งพักทั้งหมด หรือผู้กู้เข้าร่วมมาตรการแก้ไขหนี้หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หากมีเงื่อนไขชำระดอกเบี้ยน้อยกว่าร้อยละ 100 เมื่อครบระยะเวลาผ่อนปรนแล้วจะสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ และชำระดอกเบี้ยที่ตั้งพักทั้งหมด โดยผู้กู้เงินสามารถเลือกแนวทางการจ่ายเงินรายเดือนได้ 2 แนวทาง คือ

แนวทางที่ 1 นำดอกเบี้ยที่ลดลงในแต่ละเดือนไปชำระเงินต้น โดยจ่ายเงินชำระหนี้รายเดือนเท่าเดิมแต่จะมีผลทำให้ระยะเวลาชำระหนี้หมดเร็วขึ้น
แนวทางที่ 2 นำดอกเบี้ยที่ลดลงไปลดการชำระหนี้รายเดือน ซึ่งจะทำให้จ่ายเงินชำระหนี้รายเดือนลดลงจากเดิม แต่ระยะเวลาชำระหนี้ยังคงเท่าเดิม แนวทางนี้ผู้กู้ต้องแจ้งความประสงค์กับธนาคารออมสินสาขาที่ผู้กู้จ่ายเงินชำระหนี้รายเดือน

สำหรับเม็ดเงินที่ธนาคารออมสินเคยจัดสรรเพื่อสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการ ช.พ.ค. เดือนละประมาณ 200 ล้านบาท จะเปลี่ยนไปเข้าบัญชีครูและบุคลากรทางการศึกษาแทน รวมแล้วปีละ 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ฝากถึงครูที่ไม่แน่ใจว่าจะสามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามกำหนด ขอให้เข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งโครงการและมาตรการนี้เป็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ธนาคารออมสินเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินครู อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการและธนาคารออมสินมีเจตนารมณ์ที่ดีที่จะสร้างวินัยทางการเงินและตอบแทนครูดี เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานของครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตครูได้อย่างยั่งยืนต่อไป


Written by ปารัชญ์ ไชยเวช
Photo Credit ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร
Website ศธ.360 ข่าวสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ

Loading…

You may also like...