เผยแพร่บทความและงานวิจัย

เว็บไซต์ สวัสดีคุณครู ขอเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ผลงานวิจัยและผลงานวิชาการ ของคุณครูและผู้บริหารในสถานศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณาจารย์ในมหาวิทยาลัย บุคคลทั่วไป และนิสิตนักศึกษาทุกระดับ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เผยแพร่ผลงานและองค์ความรู้ทุกแขนงวิชา โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ



หลักการเขียนบทความวิจัย

การเขียนบทความวิจัยในเชิงวิชาการที่ถูกต้อง จะต้องครอบคลุมสาระตามกระบวนการวิจัย  โดยเขียนให้กระชับ  ครบถ้วน ชัดเจน  และศึกษารูปแบบการเขียนตามที่แหล่งเผยแพร่กำหนด เช่น ใช้ตัวอักษร (Fonts) อะไร ขนาดเท่าใด (Point) ตั้งค่าขอบกระดาษอย่างไร ซึ่งต้นฉบับมักใช้เป็น Word (*.doc) รวมทั้งสิ้นไม่ควรเกิน  8  หน้ากระดาษ  A4  ภาษาไทยใช้ตัวอักษร Angsana  New  ขนาด  16  Point ซึ่งการปฏิบัติตามข้อกำหนดเป็นสิ่งสำคัญและส่งผลต่อการรับพิจารณาบทความ จึงควรตรวจสอบรูปแบบรายละเอียดการเขียนของแต่ละวารสารจากหัวข้อ “Guide for authors” ซึ่งส่วนประกอบของบทความวิจัยทั่วไป มีดังนี้

  1. ชื่อเรื่อง ให้มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
  2. ชื่อผู้วิจัย ให้ระบุชื่อเต็ม – นามสกุลเต็ม  ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ  รวมทั้งระบุหลักสูตรสาขาวิชา  หน่วยงานหรือสถาบันที่สังกัด  หมายเลขโทรศัพท์/โทรสาร  และ E-mail  address  ที่สามารถติดต่อได้
  3. บทคัดย่อ ให้มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ควรศึกษาว่าบทคัดย่อให้เขียนได้ทั้งหมดกี่คำ โดยทั่วไปความยาวไม่เกินอย่างละ 250 คำ หรือ 10 บรรทัด โดยมีเฉพาะสาระสำคัญ ครบถ้วน ตรงประเด็น สั้นแต่กระชับ บทคัดย่อควรประกอบด้วย

3.1 จุดประสงค์การวิจัย
3.2 ตัวแปร/ประชากร และกลุ่มตัวอย่าง
3.3 เครื่องมือการวิจัย
3.4 วิธีดำเนินการรวบรวมข้อมูล
3.5 วิธีการ/สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
3.6 ผลการวิจัยและข้อเสนอแนะ (ควรแยกอีกหนึ่งย่อหน้า)

  1. คำสำคัญ ให้ระบุคำสำคัญที่เหมาะสมสำหรับการนำไปใช้เป็นคำค้นในระบบฐานข้อมูลให้ระบุทั้งคำในภาษาไทยและภาษาอังกฤษใส่ไว้ท้ายบทคัดย่อของแต่ละภาษาอย่างละไม่เกิน 5 คำ
  2. บทนำ(Introduction)อธิบายภูมิหลังที่มา ความสำคัญของปัญหาและเหตุผล(Background/ Significance and Rationale) ที่นำไปสู่การศึกษาวิจัย หรือการปรับปรุง พัฒนา ให้ดีขึ้นกว่าที่ เป็นอยู่จะก่อให้เกิดประโยชน์ อะไรบ้าง และผู้ได้รับประโยชน์คือใคร มีแนวคิดอย่างไร ในการแก้ปัญหา หรือพัฒนาปรับปรุงแก้ไข และแนวคิดดังกล่าวได้มาอย่างไร (อาจได้มาจากการศึกษาเอกสาร หรือจาก ประสบการณ์ตรงที่ได้จากการสังเกต การสัมภาษณ์ เป็นต้น) พร้อมระบุแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้
  3. วัตถุประสงค์ของการวิจัย ระบุว่าต้องการทำอะไร กับใคร และจุดหมายปลายทางหรือผลลัพธ์สุดท้ายที่ผู้วิจัยต้องการคืออะไร
  4. ขอบเขตของการวิจัย ให้ระบุทั้งขอบเขตด้านเนื้อหา และด้านประชากร/กลุ่มเป้าหมาย/ผู้ให้ข้อมูลหลัก/ตัวแปรที่ศึกษา (อย่างใดอย่างหนึ่ง)
  5. กรอบแนวคิดในการวิจัย/สมมติฐานการวิจัย ให้เสนอกรอบแนวคิดการวิจัย หรือสมมติฐานการวิจัย
  6. วิธีดำเนินการวิจัยและระเบียบวิธีวิจัย

9.1 บอกชนิดหรือประเภทการวิจัย
9.2 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง (รวมทั้งการได้มาของกลุ่มตัวอย่าง)
9.3 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย พร้อมวิธีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือ
9.4 วิธีดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล
9.5 การวิเคราะห์ข้อมูล และสถิติที่ใช้ (สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณ)

  1. ผลการวิจัย (Results) เสนอผลการวิจัยอย่างชัดเจน สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ถ้าเป็นข้อมูลเชิงปริมาณที่มีตัวเลขหรือตัวแปรจำนวนมาก ควรนำเสนอด้วยตารางหรือแผนภูมิ ทั้งนี้ไม่ควรเกิน 3 ตาราง โดยมีการแปลความหมายและวิเคราะห์ผลที่ค้นพบร่วมด้วย
  2. การอภิปรายผล หรือการวิจารณ์และสรุป (Discussions) เป็นการชี้แจงผลการวิจัยว่าตรงกับวัตถุประสงค์ / สมมติฐานการวิจัย สอดคล้อง หรือขัดแย้งกับหลักทฤษฏี  หรือผลการวิจัยของผู้อื่นที่มีอยู่ก่อนหรือไม่ การที่ผลการวิจัยออกมาเป็นเช่นนั้นเพราะเหตุใด
  3. ข้อเสนอแนะ ให้ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์และให้แนวทางสำหรับการวิจัยต่อไป
  4. บรรณานุกรม (References) ควรระบุรายการแหล่งข้อมูลในการอ้างอิงเนื้อหา (cite index) และการอ้างอิงท้ายเล่ม (reference) โดยเลือกแหล่งข้อมูลที่สำคัญซึ่งใช้อ้างอิงบ่อยจำนวน 5-10 รายการ ตามรูปแบบของแหล่งเผยแพร่นั้นๆ กำหนด

ที่มา : คู่มือการตีพิมพ์/เผยแพร่ผลงานวิจัยและผลงานวิชาการ

ท่านสามารถส่งผลงานวิจัยและผลงานวิชาการ เพื่อเผยแพร่บนเว็บไซต์ สวัสดีคุณครู ที่อีเมล์ portfolio@teacher.in.th