กรอบสมรรถนะหลักผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
และระดับประถมศึกษาตอนต้น (ป.๑ – ๓)

สภาพปัจจุบันของการจัดการศึกษาของประเทศไทย พบประเด็นปัญหาที่สำคัญเรื่องหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และการวัดประเมินผล ซึ่งส่งผลต่อการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานที่กำหนดให้ผู้เรียนระดับประถมศึกษาตอนต้น (ป.๑ – ๓) เรียน ๘ กลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งมีตัวชี้วัดจำนวนมากนั้นทำให้เกิดปัญหาแก่ครูและผู้เรียน ครูจำเป็นต้องเร่งสอนทำให้ผู้เรียนไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน หรือแม้กระทั่งการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการให้เนื้อหาความรู้เป็นหลัก ส่งผลให้การสอนของครูยังไปไม่ถึงการช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจและเกิดสมรรถนะที่ต้องการให้เกิดขึ้นตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ รวมทั้งการวัด ประเมินผล ที่ใช้เครื่องมือและมาตรฐานเดียวกัน จึงไม่เอื้อต่อการพัฒนาเด็กได้อย่างเหมาะสมตามสมรรถนะ ตามธรรมชาติและศักยภาพของผู้เรียน

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นดังกล่าว จึงร่วมกับคณะทำงานวางแผนจัดทำกรอบสมรรถนะหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และคณะผู้วิจัย ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนากรอบสมรรถนะหลักของผู้เรียนระดับประถมศึกษาตอนต้น โดยเอกสารกรอบสมรรถนะผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับประถมศึกษาตอนต้น (ป.๑ – ๓) ฉบับนี้ เป็นเอกสารเล่มที่ ๔ ของโครงการ จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอกรอบสมรรถนะหลัก ผู้เรียนระดับประถมศึกษาตอนต้น สำหรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยนำประเด็นเรื่องความต้องการของสังคม ประเทศ และโลกในยุคปัจจุบันและอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุก ๆ ด้าน มาพิจารณา

ในการกำหนดสมรรถนะหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตรอบด้าน และส่งผลให้เด็กไทยในปัจจุบันต้องการความรู้ ทักษะ และสมรรถนะชุดใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งการศึกษาจะต้องมีบทบาทในการตอบสนองความต้องการดังกล่าวรวมไปถึงการตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจที่ต้องการให้ประเทศไทยเข้าสู่ความเป็นไทยแลนด์ ๔.๐ ซึ่งต้องการพลเมืองที่มีความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ และผลิตนวัตกรรมได้

ที่มา : สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

You may also like...